Woman Care Clinic

ประจำเดือนผิดปกติ บอกอะไรเราได้บ้าง ?

โดย นพ. ศุภณัฐ บุรินทร์กุล (หมอเอิร์ท)
พญ. ฐานิสา กิจจรัส (หมอแนน)

ประจำเดือนผิดปกติ บอกอะไรเราได้บ้าง

 

         ประจำเดือนมาไม่ปกติหรือ การขาดประจำเดือน เป็นอาการที่เกิดขึ้นได้กับผู้หญิงทุกวัยเลยค่ะ เป็นสัญญาณที่บ่งบอกถึงสุขภาพภายในที่อาจมีปัญหา ตั้งแต่ปัญหาฮอร์โมนภายใน มีสรีระภายในที่ผิดปกติ หรืออาจเชื่อมโยงไปถึงภาวะสุขภาพที่ซับซ้อนได้ค่ะ สาเหตุของภาวะขาดประจำเดือนมีหลายประการ ได้แก่

         1. ปัญหาฮอร์โมน

         ความไม่สมดุลของฮอร์โมนในร่างกาย เช่น มีฮอร์โมนเพศชายเยอะเกินไป มีความเครียดสะสม การใช้ยาคุมกำเนิดต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน ฮอร์โมนไทรอยด์ทำงานผิดปกติ หรือโรคฮอร์โมนอื่น ๆ เช่น กลุ่มอาการถุงน้ำรังไข่หลายใบ หรือภาวะไข่ไม่ตกเรื้อรัง (PCOS) หรือ ภาวะรังไข่เสื่อมก่อนวัย (Primary ovarian insufficiency) จึงไม่ผลิตฮอร์โมน เป็นต้น

         2. รอยโรคทางนรีเวช

         อาการประจำเดือนที่ผิดปกติ ไม่ว่าจะมามากไป น้อยไป หรือมากะปริดกะปรอย ทั้งหมดเหล่านี้อาจมีรอยโรคนรีเวชซ่อนอยู่ได้ค่ะ ไม่ว่าจะเป็น เนื้องอกที่กล้ามเนื้อมดลูก ติ่งเนื้อในโพรงมดลูก ถุงน้ำหรือซิสต์รังไข่ ติ่งเนื้อที่ปากมดลูกหรือ ที่น่ากลัวที่สุด คือมะเร็งปากมดลูกค่ะ 

         3. การออกกำลังกายหนักเกินไป

         นักกีฬาหรือผู้ที่ออกกำลังกายอย่างหนักเกินไป อาจประสบภาวะประจำเดือนผิดปกติได้นะคะ เนื่องจากระดับไขมันในร่างกายที่ลดต่ำเกินไป จะส่งผลกระทบต่อการทำงานของระบบต่อมใต้สมอง นำไปสู่ ความผิดปกติของรังไข่และการผลิตฮอร์โมนเพศหญิงค่ะ ดังนั้นจึงควรออกกำลังกายแบบพอเหมาะ ไม่หนักไป ไม่เบาไปนะคะ 

         4. น้ำหนักตัวที่เปลี่ยนแปลงเร็วเกินไป

         การลดน้ำหนัก หรือเพิ่มน้ำหนักอย่างรวดเร็ว ส่งผลต่อสมดุลของฮอร์โมนในร่างกาย ทั้งที่ระบบต่อมใต้สมองและสมดุลการทำงานของรังไข่ ทำให้เกิดภาวะประจำเดือนมาไม่ปกติได้ค่ะ

         5. การใช้ยาและการรักษาทางการแพทย์

         การใช้ยาบางชนิด อาจมีผลข้างเคียงทำให้ประจำเดือนมาไม่ปกติได้ค่ะ เช่น กลุ่มยาคุมกำเนิดที่ใช้มาเป็นระยะเวลานาน ๆ ซึ่งส่งผลให้ประจำเดือนมาน้อยลงหรือขาดประจำเดือนไปได้ค่ะ แต่อาการจะเป็นชั่วคราวที่ใช้ยาอยู่เท่านั้นค่ะ กลุ่มยารักษาภาวะซึมเศร้าหรืออาการทางด้านอารมณ์ จะส่งผลต่อการทำงานของระบบฮอร์โมนจากต่อมใส่สมอง หรือ ยารักษาโรคมะเร็ง เป็นต้น

         6. ความเครียด

         แน่นอนว่า ความเครียดเรื้อรังหรือความกังวลทางจิตใจ สามารถส่งผลกระทบต่อการทำงานของฮอร์โมนในร่างกายได้เช่นกันค่ะ เพราะระบบการทำงานฮอร์โมนเพศหญิงนั้นละเอียดอ่อน หากโดนรบกวน อาจทำให้สมดุลฮอร์โมนผิดปกติไป และทำให้เกิดภาวะประจำเดือนผิดปกติตามมาค่ะ

                                                       

ปวดท้องประจำเดือน

         ประจำเดือนที่ผิดปกตินั้นมีความหลากหลายมาก โดยความผิดปกติอาจมีได้ตั้งแต่ ปริมาณเลือดประจำเดือนที่มามาก หรือน้อยเกินไป, จำนวนวันที่มากนานผิดปกติ, เลือดออกระหว่างรอบเดือน, รอบเดือนไม่สม่ำเสมอ, ประจำเดือนขาดหาย ไปจนถึงปัญหาปวดประจำเดือนที่ผิดปกติ ลักษณะประจำเดือนที่ผิดปกติเหล่านี้บ่งถึงปัญหาทางนรีเวชที่แตกต่างกันค่ะ

 

●  ประจำเดือนมามากผิดปกติ

        ประจำเดือนที่มากผิดปกติทั้งในแง่ปริมาณที่มากขึ้น (ใช้ผ้าอนามัยมากกว่าปกติ หรือมีลิ่มเลือดปน) หรือประจำเดือนมานานกว่าปกติ เป็นสัญญาณที่สำคัญของความผิดปกติที่ตัวมดลูก กรณีหากมีอาการเลือดประจำเดือนออกมาก บางคนอาจมีอาการอ่อนเพลีย หน้ามืด และวิงเวียนในช่วงรอบเดือนได้ค่ะ
บ่งถึงโรค : เนื้องอกมดลูก, มดลูกโต, เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่, ฮอร์โมนเพศหญิงสูงกว่าปกติ, มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก

 

●  เลือดออกนอกรอบประจำเดือน หรือประจำเดือนกะปริดกะปรอย

         มีเลือดออกผิดปกตินอกรอบประจำเดือน โดยอาจเกิดขึ้นภายหลังจากประจำเดือนหมด หรือเกิดในช่วงกลางรอบเดือนก็ได้ ลักษณะจะเป็นเลือดสีแดง-น้ำตาล ปริมาณเล็กน้อย ติดชั้นในไปจนถึงใช้แผ่นอนามัยรองซับ บางครั้งอาจมีอาการปวดหน่วงท้องน้อยร่วมด้วยได้ค่ะ
บ่งถึงโรค : ติ่งเนื้อในโพรงมดลูก, ฮอร์โมนเพศไม่สมดุล, การใช้ยาฮอร์โมนที่ไม่ถูกต้อง หรือผิดวิธี, มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก

 

●  ปวดประจำเดือนผิดปกติ

         หลายคนยังเข้าใจผิด ว่าผู้หญิงกับการปวดประจำเดือนเป็นของคู่กันนะคะ แต่อาการที่ต้องระวังว่ามีโรคซ่อนอยู่ ได้แก่ ปวดประจำเดือนที่มากกว่าปกติ โดยอาจเปรียบเทียบได้จากรอบเดือนที่เคยเป็นในอดีตนะคะ สัญญาณของอาการปวดประจำเดือนที่ควรพบแพทย์ ได้แก่ ปวดจนต้องใช้ยาแก้ปวดปริมาณมาก, ปวดจนต้องหยุดงาน หรือรบกวนชีวิตประจำวัน มีปัญหาเรื่องปัสสาวะหรืออุจจาระเป็นเลือดระหว่างเป็นประจำเดือน
บ่งถึงโรค : เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่, มดลูกโต, ช็อคโกแลตซีสต์, เนื้องอกมดลูกบางชนิด

 

●  ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ มาเดือนเว้นเดือน หรือประจำเดือนขาดบ่อย ๆ     

         รอบเดือนไม่สม่ำเสมอ มาไม่ตรงรอบ บางครั้งนานมากกว่า 35 วัน หรืออาจมีประจำเดือนรอบเว้นรอบ ไปจนถึงประจำเดือนขาดมากกว่า 3 เดือนขึ้นไป ลักษณะเหล่านี้นับว่ามีความผิดปกตินะคะ และควรพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุเพิ่มเติม ก่อนจะสายเกินแก้ค่ะ
บ่งถึงโรค : ไข่ไม่ตกเรื้อรัง หรือโรคถุงน้ำในรังไข่หลายใบ (PCOS), ฮอร์โมนเพศไม่สมดุล, รังไข่หยุดทำงานก่อนวัยอันควร, ภาวะน้ำหนักเกิน หรือเครียด

 

●  ปัสสาวะบ่อย หรือท้องผูกช่วงเป็นประจำเดือน

         ช่วงเป็นประจำเดือนแล้วมีปัญหาเรื่อปัสสาวะบ่อย โดยปัสสาวะช่วงกลางวันมากกว่า 7 ครั้ง/วัน หรือมากกว่า 1 ครั้ง/คืน มีปัญหาท้องผูกร่วมด้วย โดยอาการเป็นมากขึ้นในช่วงเป็นประจำเดือน ลักษณะเหล่านี้บ่งถึงเนื้องอก ที่อาจกดเบียดอวัยวะใกล้เคียง เช่น กระเพาะปัสสาวะ หรือลำไส้
บ่งถึงโรค : มดลูกโต, เนื้องอกมดลูกบางชนิด

 

                                                     

         หากสาว ๆ คนไหน พบว่าประจำเดือน ไม่มานานเกินกว่า 3 เดือน หรือ มีประจำเดือนออกปกติกว่าที่ควรจะเป็น ควรเข้าพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัย และหาสาเหตุนะคะ ในการตรวจอาจมีการอัลตราซาวด์ ตรวจเลือดฮอร์โมน  หรือการตรวจร่างกายอื่น ๆ เพื่อหาสาเหตุที่แน่ชัด สำหรับการรักษาขึ้นอยู่กับสาเหตุที่ตรวจพบค่ะ เช่น การใช้ยาเพื่อปรับสมดุลฮอร์โมน การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม หรือการผ่าตัดหากมีรอยโรคที่ต้องรับการแก้ไขค่ะ

 

                                                     

ตรวจภาวะประจำเดือนผิดปกติกับคุณหมอ

                                                       

         การมีประจำเดือนผิดปกติสามารถเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น ความเครียด การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน การขาดสารอาหาร หรือรอยโรคทางนรีเวช การดูแลสุขภาพและป้องกันภาวะประจำเดือนผิดปกติจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อให้รอบเดือนมาสม่ำเสมอและลดความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพ คุณหมอแนะนำวิธีการป้องกัน และดูแลสุขภาพเพื่อป้องกันภาวะประจำเดือนผิดปกติอย่างมีประสิทธิภาพ ดังนี้ค่ะ

●  รักษาน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม

         การมีน้ำหนักตัวที่เหมาะสมเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยควบคุมสมดุลฮอร์โมนในร่างกาย ทั้งน้ำหนักเกินและน้ำหนักต่ำเกินไปสามารถทำให้รอบเดือนผิดปกติได้ โดยเฉพาะในกรณีของผู้ที่มีภาวะน้ำหนักต่ำ อาจทำให้ประจำเดือนขาดหายไป และในผู้ที่มีน้ำหนักเกิน อาจเสี่ยงต่อภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบหรือไข่ไม่ตก (PCOS) ดังนั้นการรักษาน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมจะช่วยลดความเสี่ยงของการมีประจำเดือนผิดปกติได้นะคะ

●  ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

         การออกกำลังกายเป็นประจำช่วยควบคุมฮอร์โมนและปรับสมดุลร่างกาย การออกกำลังกายเบา ๆ เช่น เดิน วิ่งเบา ๆ โยคะ หรือการเต้นแอโรบิก ช่วยส่งเสริมสุขภาพร่างกายและลดความเครียด ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้ประจำเดือนมาไม่ปกติ อย่างไรก็ตาม ไม่ควรออกกำลังกายหนักเกินไป เพราะอาจทำให้ประจำเดือนขาดหายไปได้เช่นกันค่ะ

●  รับประทานอาหารที่สมดุลและครบถ้วน

         โภชนาการมีผลโดยตรงต่อรอบเดือน การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์และครบถ้วนทุกหมู่ช่วยสนับสนุนการทำงานของฮอร์โมนและระบบสืบพันธุ์ ควรเน้นรับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยผักใบเขียว ผลไม้สด ธัญพืชเต็มเมล็ด โปรตีนจากเนื้อสัตว์ที่ไม่ติดมัน และไขมันดี เช่น น้ำมันมะกอกและอะโวคาโด หลีกเลี่ยงอาหารแปรรูป อาหารที่มีน้ำตาลสูง และไขมันทรานส์ ที่สามารถรบกวนสมดุลฮอร์โมนได้

●  จัดการความเครียดอย่างมีประสิทธิภาพ

         ความเครียดเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ฮอร์โมนแปรปรวนและประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ การหาวิธีจัดการความเครียด เช่น การทำสมาธิ การฝึกหายใจลึก ๆ การออกกำลังกายเบา ๆ หรือทำกิจกรรมที่ชื่นชอบ จะช่วยให้จิตใจผ่อนคลายและปรับสมดุลฮอร์โมนในร่างกาย

●  นอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ

         การนอนหลับที่เพียงพอมีความสำคัญต่อการทำงานของฮอร์โมน การนอนหลับไม่เพียงพออาจทำให้ร่างกายเกิดความเครียดและส่งผลต่อรอบเดือน ควรนอนหลับอย่างน้อย 7-8 ชั่วโมงต่อคืน และพยายามเข้านอนและตื่นให้เป็นเวลาเดียวกันทุกวัน เพื่อให้ระบบนาฬิกาชีวิตของร่างกายทำงานอย่างสมดุล

●  หลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีและยาที่อาจรบกวนฮอร์โมน

         สารเคมีบางชนิดที่พบในเครื่องสำอาง ยาฆ่าแมลง หรือพลาสติกบางชนิดอาจส่งผลกระทบต่อการทำงานของฮอร์โมนในร่างกายได้ ควรเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นธรรมชาติหรือมีฉลากรับรองความปลอดภัย นอกจากนี้ การใช้ยาบางชนิด เช่น ยาคุมกำเนิดแบบฉุกเฉิน อาจทำให้รอบเดือนผิดปกติ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยาทุกครั้ง

●  ตรวจสุขภาพประจำปี

         การตรวจสุขภาพประจำปีและการตรวจภายในเป็นสิ่งสำคัญสำหรับผู้หญิง การตรวจสุขภาพจะช่วยให้สามารถตรวจพบภาวะที่อาจทำให้ประจำเดือนผิดปกติได้ตั้งแต่ระยะแรก ๆ เช่น โรคถุงน้ำรังไข่หลายใบ เสี่ยงภาวะไข่ไม่ตกเรื้อรัง (PCOS) หรือโรคไทรอยด์ การได้รับการวินิจฉัยและรักษาอย่างทันท่วงทีจะช่วยป้องกันภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ที่อาจตามมา

●  หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์

         การสูบบุหรี่และการดื่มแอลกอฮอล์สามารถส่งผลกระทบต่อระดับฮอร์โมนและการทำงานของร่างกาย ทำให้รอบเดือนผิดปกติได้ การลดหรืองดการสูบบุหรี่และการดื่มแอลกอฮอล์จะช่วยปรับสมดุลของฮอร์โมนและส่งเสริมสุขภาพรอบด้านค่ะ

●  ควบคุมการใช้คาเฟอีน

         คาเฟอีนที่พบในกาแฟ ชา และเครื่องดื่มชูกำลัง อาจทำให้ระดับฮอร์โมนแปรปรวนและเพิ่มความเครียดต่อระบบสืบพันธุ์ การลดปริมาณการดื่มคาเฟอีน หรือเลือกเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนต่ำจะช่วยให้ฮอร์โมนทำงานได้อย่างปกติและลดความเสี่ยงของการมีประจำเดือนผิดปกติค่ะ

●  รีบปรึกษาแพทย์เมื่อพบว่ามีอาการผิดปกติ

         วิธีนี้สำคัญที่สุดค่ะ หากสาว ๆ สังเกตได้ว่า มีประจำเดือนผิดปกติ ไม่ว่าจะเป็น มามากเกินไป น้อยเกินไป ขาดหายไป หรือมีอาการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุตั้งแต่เนิ่น ๆ นะคะ การได้รับคำแนะนำ และรับการรักษาอย่างเหมาะสม จะช่วยให้รอบเดือนกลับมาสู่ภาวะปกติ และลดความเสี่ยงของปัญหาสุขภาพในอนาคต สำหรับการตรวจรักษา อาจเริ่มจากการตรวจอัลตราซาวด์ การตรวจภายใน หรือการส่องกล้องเพื่อตรวจเนื้องอก วิธีการรักษามีตั้งแต่การใช้ยา การรักษาด้วยฮอร์โมน ไปจนถึงการผ่าตัด ขึ้นอยู่กับขนาดและตำแหน่งของเนื้องอกนะคะ

                                                       

รายการตรวจราคา (บาท)
ตรวจภายใน600.-

อัลตราซาวด์มดลูก รังไข่

และอุ้งเชิงกราน

1,500.-

* ข้อมูลและค่าบริการ อ้างอิง ณ เดือนกันยายน 2567 โปรดตรวจสอบรายละเอียดอีกครั้ง

         โดย Woman Care Clinic ของเรา ดูแลโดยคุณหมอเฉพาะทางด้านฮอร์โมนผู้มากประสบการณ์ และให้การรักษาเป็นรายบุคคลอย่างตรงจุดและครอบคลุม ไม่ว่าจะเป็นการใช้ยาหรือ การผ่าตัดส่องกล้องค่ะ  ติดต่อสอบถามได้ที่ เบอร์ 096-692-5044 หรือ line : @womancareclinic (มี@) ได้เลยค่ะ